วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คุตบะฮฺ:การบริจาคทรัพย์และการยุแหย่

การบริจาคทรัพย์และการยุแหย่



   ท่านพี่น้องผู้เคารพทั้งหลาย จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ(ซ.บ.)ให้มาก ท่านจงกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และจงละทิ้งในสิ่งที่พระองค์ทงห้าม ท่านก็จะได้รับสันติสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
   พระองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ.)ได้ทรงประทานความเป็นอยู่บนโลกนี้ ให้มีแต่ความสุขสำราญชื่นบาน ชั่วระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น เมื่อวาระสุดท้ายของโลกดุนยาได้เวียนมาถึง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะต้องสูญสิ้นไป มันไม่สามารถที่จะคงอยู่ถาวรได้ ทั้งนี้ด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ(ซ.บ.)นั่นเอง ซึ่งปรากฏอยู่ในรุก่นอีหม่านอยู่แล้ว

   ดุนยาเป็นเพียงถิ่นแห่งความโลภหลง ความทะเยอทะยาน ถิ่นแห่งความลืมพระผู้บังเกิด มันจึงไม่สามารถจะอยู่อย่างถาวรได้ ตัวของพวกเราก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งเราก็จะต้องก้าวไปสู่ความตาย ดังที่อัล-กุรอ่านได้กล่าวว่า



   “แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)และเราก็ต้องกลับคืนไปสู่พระองค์” ( 2:156 )

   ความตายนั้นเป็นการสิ้นสุดแห่งความเป็นมนุษย์ มันกำลังคืบคลานมาหาตัวเราทุกวัน ทุกชั่วโมง ฉะนั้นเพียงชั่วที่พระองค์ให้พวกเราเกิดมาเป็นมนุษย์โลก ก็เป็นโอกาสอันดียิ่งที่เราจะกอบโกยทำอามัลอิบาดะห์ และวากัฟทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งผลบุญนั้นเหลือที่จะพิสูจน์ได้ ดังอัล-กุรอ่านได้กล่าวไว้ว่า



   “ข้อเปรียบเทียบของบรรดาผู้บริจาคสมบัติของเขาทั้งหลายในวืถีทางของอัลลอฮฺนั้น เหมือนกับเมล็ดหนึ่งของพืชซึ่งงอกออกมาเจ็ดรวง ในทุก ๆ รวงหนึ่งมีร้อยเมล็ด และอัลลอฮฺทรงทวีแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงไพบูลย์ ผู้ทรงรอบรู้” (2:261)

   ท่านพี่น้องทั้งหลาย ทรัพย์สินเงินทองที่จะคุณประโยชน์เราได้ในวันอาคีเราะห์นั้นก็คือ ทรัพย์ซึ่งเราได้สละทำมัสยิด หรือสละทรัพย์สินที่จะวากัฟต่าง ๆ เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นจะมีผลไปถึงวันอาคีเราะห์ คือวันแห่งการตัดสิน ทรัพย์สินเหล่านี้จะทำให้ตาชั่ง ในจานตาชั่งความดีหนักกว่าความชั่ว เมื่อความดีหนักกว่าความชั่วแล้ว แน่นอนเราต้องได้สวรรค์เป็นการตอบแทน
   ท่านพี่น้องทั้งหลาย ทรัพย์สินเงินทองที่เรามีอยู่นั้น หาได้ติดตามเราไปในโลกอาคีเราะห์ไม่ สิ่งที่ตอบแทนเราได้ก็คือความดีหรือกุศลผลบุญที่เราได้ปฏิบัติ ตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเจริญรอยตามซุนนะฮฺของท่านรอซูลุลลอฮฺเท่านั้น ที่จะเป็นทรัพย์ไมสูญสิ้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเกษมสุขสำราญชั่วนิรันดร์ ดังอัลกุร-อ่านได้กล่าวไว้ว่า

 


   “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาและประกอบการดีทั้งหลาย สำหรับเขาทั้งหลายคือสวนสวรรค์ฟิรเดาว์ส เป็นการต้อนรับ” (18:107)

   กรณียกิจที่เราจะต้องปฏิบัติขณะอยู่ในโลกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ คือการสามัคคีช่วยเหลือเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มนุษย์เราที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็ต้องต่อสู้และค้องอยู่ในสังคมที่แตกต่างกันหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมในหมู่บ้านเยวกัน ก็ต้องพบปะกัน สนทนากันอยู่เสมอ และก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่เอง ที่ไม่สามารถจะถูกใจกันได้เสมอทุกคน
   ดังนั้น มนุษย์อาจมีการแตกแยกกัน ตั้งหมู่ตั้งคณะกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกซึ่งกันและกัน จะหาความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างถาวรตลอดไปไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้ก็ตาม พวกเราจะต้องพยายามยึดเหนี่ยวความสามัคคีไว้ให้ถาวร อย่าได้แตกแยกกันไปตั้งหมู่ตั้งคณะ เพราะท่านศาสดาได้กล่าวเตือนไว้ว่า “การมีความสามัคคีกันนั้น เป็นกำลังอันมหึมา ซึ่งสามารถที่จะกระทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้อย่างฉับพลัน”
   ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย ก็ทราบดีแล้วว่าการยุแหย่เป็นสิ่งที่ทำให้แตกความสามัคคี เป็นสิ่งที่ทำลายเรื่องต่าง ๆ ให้ล้มเหลวลง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้น ๆ ส่วนมากเป็นเรื่องที่ลงมติเห็นดีกันแล้วทุกคน
   ฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังสร้างอยู่นี้ จะสำเร็จเรียบร้อยไปได้ก็ต้องอาศัยความสามัคคีเป็นที่พึ่ง และต้องปราศจากการยุแหย่ว่ากล่าวสอดเสียดซึ่งกันและกันเท่านั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสามัคคีซึ่งแนบสนิทกับพวกเรานี้ ต้องถาวรตลอดชั่วนิรันดร์
   การยุแหย่นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับโทษอย่างมหันต์ และการยุแหย่นี้เอง เป็นปัจจัยอันหนึ่งที่จะทำลายความสามัคคีให้ดับสูญไป การยุแหย่คืออะไร  การยุแหย่คือการทำลายความสัมพันธ์ความรัก การสนิทสนมระหว่างพี่น้องเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านให้จางหายไป บรรดาผู้ที่ชอบยุแหย่นี้ อัลลอฮฺ(ซ.บ.)ได้ตรัสว่า




   “ความวิบัติจงมีแก่ผู้นินทาและผู้ปรักปรำ” (104:1) 


   “และผู้ใดขวนขวายความผิดหรือการบาป แล้วใส่ความผู้บริสุทธิ์โดยนัยนั้น ดังนั้น แน่นอนเขาได้แบกการใส่ร้ายและบาปอันชัดแจ้ง” (4:112)

   การที่เราพูดสิ่งใดไป ควรที่จะพิจารณาไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน หามิเช่นนั้นแล้ว อาจจะเป็นผลประโยชน์แก่ผู้อื่น ในการที่ทับถมเสียดสีผู้อื่น ถึงแม้เราจะได้พิจารณาแล้วว่า คำพูดของเรานั้นดี การพูดดีนั้นแม้จะไม่เคยคิดถึงผลบุญอันพึงได้ แต่อัลลอฮฺ(ซ.บ.)ก็ทรงประทานให้อย่างครบถ้วน และการพูดร้ายก็เช่นเดียวกัน แม้จะไม่เคยคิดถึงผลอันพึงได้รับจากคำพูด แต่ผู้พูดก็ต้องได้รับโทษจากคำพูดนั้น
   ดังนั้นท่านที่รักทั้งหลาย เมื่อเราจะพูดอะไรออกไป เราก็สมควรที่จะพูดในสิ่งที่ดี ทางที่จะเสริมคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม หากมิเช่นนั้นแล้วก็จงสงบเสีย เพราะท่านศาสดาได้กล่าวไว้ว่า
   “การสงบนิ่งเป็นเครื่องประดับสำหรับนักธรรม และเป็นสิ่งปิดกลั้นสำหรับผู้โฉดเขลา”





คัดลอกจาก “สื่อมะเซาะ” หนังสือแจกเป็นที่ระลึก งานมะเซาะรำลึก 53 โดย Bangmud เมื่อ 22 กุมภาพันธ 2553
credit  http://www.sunnahstudent.com/forum/index.php/topic,5693.0.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น