วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คุตบฮฺ:เลี้ยงลูกอย่างไรในดุนยา



พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพ
 อัลลอฮฺ سبحانه وتعالى   ทรงเปิดเผยความจริงไว้ในอัลกุรฺอานว่า
زُيِّنَ لِلنَّاسِ حُبُّ الشَّهَوَاتِ مِنَ النِّسَاءِ وَالْبَنِيْنَ
وَالْقَنَاطِيْرِ الْمُقَنْطَرَةِ مِنَ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ وَالْخَيْلِ الْمُسَوَّمَةِ
وَالأَنْعَامِ وَالْحَرْثِ ذَلِكَ مَتَاعُ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَاللهُ عِنْدَهُ خُسْنُ الْمَآبِ
ซูเราะฮฺ อาละอิมรอน 3:14
ได้ถูกทำให้สวยงาม(ลุ่มหลง)แก่มนุษย์ ซึ่งความรักในบรรดาสิ่งที่เป็นเสน่ห์อันได้แก่
ผู้หญิงและลูกชาย, ทองและเงินอันมากมาย และม้าดี และปศุสัตว์และไร่นา
นั่นเป็นสิ่งำนวยประโยชน์ชั่วคราวในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้เท่านั้น
และอัลลอฮฺนั้น ณ พระองค์ คือที่กลับอันสวยงาม
     การฝากฝังใจให้รักและหลงใหลในดุนยา เป็นส่วนหนึ่ง และการใกล้ชิดอัลลอฮฺเป็นอีกส่วนหนึ่ง จากส่วนที่ระบุไว้ในอายะฮฺนี้
แต่อัลลอฮฺ سبحانه وتعالى ทรงบอกว่า การใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ سبحانه وتعالى เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด
ดังนั้น เมื่อใครก็ตาม มองเห็นว่าทรัพย์สิน ลูกหลาน เป็นสิ่งที่น่าหวงแหน และน่าห่วงใยมากที่สุดก็แปลได้ว่า เขายังขาดความศรัทธา
ในอายะฮฺนี้ และยังเป็นผู้ที่ยืนอยู่บนความหลงผิด เพราะมีความรู้สึกภายในจิตใจคัดค้านต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ  سبحانه وتعالى 
นอกจากเขาจะรักอัลลอฮฺ سبحانه وتعالى และรอซู้ลเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดจึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง
แต่นี่เป็นเพียงการแนะนำเท่านั้น คำพูดและคำแนะนำนี้ทำให้เกิดการได้ยินเท่านั้น แต่ยังไม่ทำให้เกิดการศรัทธาตามนี้ได้
และไม่มีใครช่วยให้ผู้ใดเกิดศรัทธาเช่นนี้ได้ นอกจากอัลลอฮฺ سبحانه وتعالى เท่านั้น
     ยังมีอีกบางคนที่มีลูกหลานแล้วปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจที่จะสั่งสอนอบรม ไม่รับผิดชอบที่จะส่งเสียให้ร่ำเรียน
แล้วพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองว่า นี่คือหนทางของผู้ที่รักในอัลลอฮฺ سبحانه وتعالى   มากกว่าลูกหลานและทรัพย์สิน
นี่เป็นการหลงผิดอีกประเภทหนึ่ง เพราะอัลลอฮฺ سبحانه وتعالى ได้สั่งเสียไว้ว่า ให้รักษาตนเองและผู้อยู่ภายใต้
การอุปการะของตนให้พ้นจากไฟนรก ผู้ที่ไม่รับผิดชอบต่อคำสั่งนี้ เป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺسبحانه وتعالى 
อยู่แล้ว ตนเองคิดขึ้นมาเพื่อปลอบใจตนเองเท่านั้น หาได้เป็นหนทางตรงที่อัลลอฮسبحانه وتعالى ได้ทรงกำหนดไว้ไม่
ดังนั้น ผู้ที่ใฝ่ใจในดุนยาเกินไป และผู้ที่ไม่ใฝ่ใจรับผิดชอบต่อกิจการในดุนยาเลย จึงเป็นผู้ที่หลงผิดทั้งสองกรณี
นี่ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ที่จงใจฝ่าฝืนเสมอไป แต่หมายถึงคนที่หลงผิด ก็มีความผิดเช่นกัน เพราะไม่ใส่ใจว่า สิ่งใดถูกหรือผิด
การศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามแสงสว่างแห่งสัจจะธรรม เป็นสิ่งจำเป็นเหนือบุคคลทุกคนอยู่แล้ว แต่เพียงการศึกษา
เท่านั้นก็ยังไม่ใช่สิ่งพอเพียงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ จึงไม่เกิดเป็นความศรัทธา คือมิได้รักอัลลอฮฺ سبحانه وتعالى 
เหนือสิ่งอื่นใด หลังจากศึกษาแล้วจะต้องมีพฤติกรรมและความคิดเปลี่ยนไปสู่แนวทางที่ถูกต้องจึงจะเรียกว่าเป็นการศึกษา แต่การศึกษาผิด ๆ
จากครูที่ไม่รู้จริงก็เป็นอันตรายต่อความพยายามและเวลาที่เสียไป เพราะไม่ก่อให้เกิดความศรัทธาดังกล่าว แต่บางทีเรียนมาถูกต้อง
แต่มิได้พยายามประพฤติตามสิ่งที่เรียนมา จึงก่อให้เกิดความศรัทธาที่ผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้น อัลลอฮฺ سبحانه وتعالى จึงได้
เปิดทางให้มุสลิมทุกคนติดต่อกับพระองค์ได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพระหรือนักบวชเหมือนศาสนาอื่น
     ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้ปรับความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องกับเจตนาอันแท้จริงของอัลลอฮฺسبحانه وتعالى นั่นเอง
ดังนั้น ผู้ใดก็ตาม ที่มิได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างระมัดระวังด้วยความตั้งใจจริง จึงถือได้ว่า เป็นผู้ไม่สนใจที่จะอยู่บนหนทางที่ถูกต้อง
และไม่สนใจในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ سبحانه وتعالى   เพื่อเขาจะได้มีความเข้าใจและมีความศรัทธา
ที่ตรงเป้าหมาย  การปฏิบัติศาสนกิจด้วยบริสุทธิ์ใจจะทำให้หลุดพ้นจากความผิดได้ ดังรายงานจากอบู วาอิล จากฮุซัยฟะฮฺ ที่รายงานว่า
 ท่านอุมัรฺได้ถามมวลชนว่า "มีใครบ้างไหมที่สามารถจดจำคำพูดของท่านศาสดามุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم
ที่เกี่ยวกับเรื่องฟิตนะฮฺ(การล่อลวงจิตใจ)" ฮุซัยฟะฮฺจึงตอบว่า ฉันได้ยินท่านศาสดาเคยกล่าวว่า "การหลงผิดของบุคคล
จากการถูกล่อใจจากสมบัติ จากครอบครัว และจากเพื่อนบ้าน สามารถวัดได้ด้วยการละหมาด การถือศีลอด และการให้ทาน" (ซอฮีหฺ บุคอรี)
     นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดว่า การโลภหลงในดุนยาจะเป็นเครื่องมือทำให้หลงลืมอัลลอฮฺسبحانه وتعالى 
เพราะมัวแต่คิดว่านอนหลับสบาย เพราะมีเครื่องนอนที่นุ่มนวล ไปมาสะดวกเพราะมียายพาหนะ มีเกียรติยศ
เพราะมีทองมีเพชรนั้น มุมินจะต้องรู้ด้วยศรัทธาและจิตวิญญาณว่า สบาย สะดวก ศักดิ์ศรี มีได้เพราะอัลลอฮฺسبحانه وتعالى อนุมัติ
และมีไม่ได้เพราะอัลลอฮฺسبحانه وتعالى ไม่ประสงค์ให้มี และอัลลอฮฺسبحانه وتعالى จะให้กับใครก็ได้
ไม่ให้ใครก็ได้ นี่เป็นเรื่องจำเป็น แต่เป็นเรื่องยากที่จะศรัทธาเช่นนั้น และรู้ได้ว่ามีศรัทธานี้แล้วหรือยัง
ต้องทำให้เครื่องเพชรเหล่านั้นหายไปจากจิตใจเสียก่อน โดยให้คิดว่าเครื่องเพชรที่มีอยู่นั้น มีไว้เพื่อใช้ตามความเหมาะสม
ไม่ได้มีไว้เพื่อครอบงำจิตใจของเราให้ลุ่มหลงไปกับมัน ถ้ารู้สึกว่าด้อยกว่าคนอื่นก็ขอให้รู้เถิดว่า ศรัทธาที่มีต่ออัลลอฮฺسبحانه وتعالى 
นั้นมันน้อยกว่าที่มีต่อเครื่องเพชรเป็นไหน ๆ เช่นเดียวกัน เมื่อเราเห็นคนอื่นได้ดี แล้วเรารู้สึกไม่สบายใจ หรือรู้สึกริษยา ก็ขอให้รู้เถิดว่า
เรามิได้ศรัทธาเลยว่า อัลลอฮฺسبحانه وتعالى จะประสงค์ให้ผู้ใดก็ได้ ไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดก็ได้ การคิดทบทวนอย่างนี้ทุกวัน
ก่อนที่จะตายจากโลกนี้ จะช่วยให้ประสบชัยชนะในวันอาคิเราะฮฺได้(อินชาอัลลอฮฺ) แต่คิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการฝึกฝนด้วย
เรารู้ว่า การขัดขืนบัญญัติของอัลลอฮسبحانه وتعالى   เป็นเรื่องของอารมณ์ริษยา โลภหลง ความอยาก ความกระหาย ล้วนเป็นอารมณ์
ผู้ที่ประสบความสำเร็จได้ ต้องชนะอารมณ์ได้ ดังนั้น อัลลอฮฺسبحانه وتعالى จึงได้ประทานแบบฝึกหัดมาเพื่อให้เราฝึกชนะอารมณ์ของเราเอง
ด้วยการละหมาด ถือบวชและให้ทาน เหตุนี้ อิบาดะฮฺ จึงเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ชัยชนะในวันอาคิเราะฮฺนั่นเอง ให้มั่นใจว่า
ระงับอารมณ์ได้ในทุก ๆ เรื่องก่อนที่จะจากโลกนี้ไป

(พิมพ์ตามบทความในเอกสารที่ได้รับแจกโดยไม่ได้ดัดแปลงแก้ไข โดย Bangmud)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น